ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร เดือนเมษายน 2567


         
1. ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร
      ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 110.28 ลดลง ร้อยละ 9.91 จากเดือนเมษายน 2566
ซึ่งอยู่ที่ระดับ 122.42 เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน เงาะ
มังคุด สับปะรด และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และสุกร
      ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (ที่อยู่ระดับ 120.36) ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ร้อยละ 8.37
โดยสินค้าเกษตรสำคัญบางชนิดที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ หอมแดง กระเทียม และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าเกษตรสำคัญบางชนิด
มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 
 
  

 
2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตร
      ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ณ เดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 173.91 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.21
จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 152.27
       เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (ที่อยู่ระดับ 166.94) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.17


  
 
2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2566
•  สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
    - ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้จากทั้งใน และต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตล้อรถยนต์และเครื่องบิน
    - ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้ง ทำให้ดอก ใบ และผลร่วง ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตไม่สมบูรณ์
น้ำหนักน้อย รูปทรงไม่สวยงาม อีกทั้งเป็นช่วงต้นฤดูกาลของผลผลิตภาคตะวันออก ผลผลิตจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จากทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก
    - มังคุด ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิต
(ลูกเล็ก ผิวไม่สวย)

•  สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
   - ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศทรงตัว
ประกอบกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต (เปอร์เซ็นต์น้ำมันลดลง)


2.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
•  สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
    - หอมแดง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูผลผลิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ของตลาดภายในประเทศ จากการส่งเสริมการซื้อขายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและเครือข่าย เช่น มีจุดซื้อขายที่สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

•  สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง
   - ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาลดลง เนื่องจากความต้องการจากภายในประเทศลดลง ขณะที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด
และมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ข้อตกลงการค้า (WTO) และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)



 
3. ดัชนีรายได้เกษตรกร
       ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 191.79 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.89 จากเดือนเมษายน 2566
ซึ่งอยู่ที่ระดับ 186.40 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.21 ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร
ปรับตัวลดลง ร้อยละ 9.91






 4. สรุป

       ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรในเดือนเมษายน 2567 มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง
ร้อยละ 9.91 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.21 ส่งผลทำให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.89
เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566


ตารางแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร (%YoY)
  2565 2566 2567
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 เมษายน
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร 2.23 6.48 -0.95 0.17 2.25 1.22 1.17 -0.95 -5.02 -9.91
ดัชนีราคาสินค้าเกษตร 4.46 10.03 20.09 12.93 -1.21 -5.26 -1.63 0.08 5.57 14.21
ดัชนีรายได้เกษตรกร 6.79 17.16 18.95 13.12 1.01 -4.10 -0.48 -0.88 0.27 2.89
  หมายเหตุ: %YoY คือ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา                                                                            
  ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567

 


 
 
 
♦ ♦ ดาวน์โหลดเอกสาร ♦ ♦

  รายงานดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร

  
Infographic TH / EN
 


รายงานดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร จะเผยแพร่ภายในวันที่ 20 ของทุกเดือน ••